วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย หรือหลักความเชื่อ 10 ประการ (กาลามสูตร

หลักธรรมในพระพุทธศาสนานี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ ที่อาศัยอยู่
ในเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล เนื่องจากในสมัยนั้นมีผู้อวดอ้างตนในคุณวิเศษกันมาก
เชิดชูแต่ลัทธิของตัว พูดจากระทบกระเทียบดูหมิ่นลัทธิอื่น พร้อมทั้งชักจูงมิให้เชื่อ
ลัทธิอื่น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเกสปุตตนิคมดินแดนที่เต็มไปด้วยผู้อวดอ้าง
ชาวกาลามะได้ทูลถามด้วยความสงสัยว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ?

พระพุทธองค์จึงทรงแสดงกาลามสูตร ว่าด้วย วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย
หรือหลักความเชื่อ 10 ประการ
เป็นหลักตัดสิน คือ

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา
2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา
3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก
6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา


เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า..ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า..ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ
เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ


ดังนั้น พระสูตรนี้ท่านมิได้ห้ามมิให้เชื่อ แต่ให้เชื่อด้วยมีปัญญาประกอบด้วย
มิฉะนั้นความเชื่อต่างๆ จะไม่พ้น "ความงมงาย"
และไม่พึงแปลความเลยเถิดไป
ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อสิ่งเหล่านี้ และให้เชื่อสิ่งอื่นนอกจากนี้
แต่พึงเข้าใจว่า แม้แต่สิ่งเหล่านี้ซึ่งบางอย่างก็เลือกเอามาแล้วว่า..
เป็นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ปลงใจเชื่อ
ไม่ให้ด่วนเชื่อ ไม่ให้ถือเป็นเครื่องตัดสินเด็ดขาด
ยังอาจผิดพลาดได้ ต้องใช้ปัญญาคิดพิจารณาให้ดีก่อน 


..
แล้วสิ่งอื่น คนอื่นเราจะต้องคิดต้องพิจารณา
ระมัดระวังให้มากสักเพียงไหน??

ที่มา: หนังสือ "พระไตรปิฎก ฉบับดับทุกข์" จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ (หน้า 41-42), หนังสือ "พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน ย่อความจากพระไตรปิกฉบับบาลี 45 เล่ม" (หน้า 510) จัดทำโดย สุชีพ ุญญานุภาพ, หนังสือ "ธรรมาธิบาย หลักธรรมในพระไตรปิฎก" (หน้า 620 - 621) เรียบเรียงโดย อาจารย์ปัญญา ใช้บางยาง และคณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น